การเตรียมพื้นที่
สภาพพื้นที่เดิมที่จะใช้สำหรับปลูกยางพาราในแต่ละท้องที่แต่ละแห่ง จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพื้นที่ และในการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกจึงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ในกรณีที่เป็นสวนยางพาราเก่า พี้นที่มีลักษณะเป็นป่า หรือมีไม้อื่นปลูกรวมอยู่ด้วย การเตรียมพี้นที่นั้นจะต้องโค่นล้มไม้เหล่านี้ออกเสียก่อน ซึ่งการโค่นล้มไม้อาจทำโดยใช้แรงงานคน หรือแรงงานเครื่องจักรกล เช่น ใช้เลื่อย ใช้ขวานฟันหรือใช้เลื่อยยนต์ก็ได้ โดยตัดไม้ให้เหลือเฉพาะตอไม้ ให้ความสูงจากพื้นดินประมาณ 50 ถึง 60 เซนติเมตร จากนั้นจะต้องทำการฆ่าตอไม้โดยใช้ยาฆ่าตอไม้ ชนิด 2,4,5-T ในอัตราส่วนสารเคมี 1 ส่วน ผสมน้ำมันโซล่า 16 ส่วน และใช้ทาตอไม้ในขณะที่ยังมีความสดอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้ตอไม้ตายและผุสลายเร็วขึ้น หรืออาจใช้รถแทรกเตอร์ไถต้นไม้ทั้งหมดก็ได้ วิธีนี้จะถอนรากถอนโคนของไม้ออกได้หมด แต่มีข้อเสียบางประการคือเกิดการสูญเสียหน้าดินมากหลังจากโค่นต้นยางเก่าหรือต้นไม้อื่นลงหมดแล้ว และจะต้องเก็บไม้ใหญ่ออกจากพื้นที่ จากนั้นเก็บเศษไม้ต่างๆ มารวมกันไว้เป็นกอง จัดเรียงเป็นแนวตามพื้นที่ และตากให้แห้งเพื่อทำแนวกันไฟ จากนั้นก็ทำการเผาเศษไม้เหล่านั้น หลังจากเผาเสร็จแล้ว ก็ควรจะรวบรวมปรนที่ยังเผาไหม้ไม่หมดมารวมกันเพื่อเผาใหม่อีกครั้ง และทำการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก โดยการใช้วิธีการไถ จำนวน 2 ครั้ง พรวนดินอีก 1 ครั้ง ส่วนพื้นที่ที่ยังมีตอไม้ยางเก่าหรือตอไม้อื่นอยู่หลงเหลืออยู่ อาจจะทำให้การเตรียมดินสำหรับการปลูกไม่สะดวกมากนัก แต่หากเป็นกรณีที่เป็นพื้นที่ที่จะปลูกมีความลาดเทมาก เช่น พื้นที่บริเวณควนหรือเนิน จะต้องมีการจัดทำพื้นที่เป็นขั้นบันไดหรือทำการต้านดิน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้น้ำฝนชะล้างดินเหล่านั้นให้ไหลตามน้ำ การทำพื้นที่เป็นขั้นบันไดอาจทำเฉพาะในลักษณะของต้นหรือยาวเป็นแนวเดียวกัน หรืออาจจะจะทำพี้นที่ในลักษณะเป็นวงรอบไปตามลักษณะของควนหรือเนินก็ได้ โดยให้ระดับขนานกับพื้นดิน และความกว้างของขั้นบันไดอย่างน้อยกว้าง 1.5 เมตร และแต่ละขั้นบันไดก็ใช้วิธีการตัดดินให้มีความลึกและเอียงเข้าไปในทางเป็นเนินดิน โดยให้บริเวณขอบด้านนอกของขั้นบันไดเป็นลักษณะคันดิน มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความกว้าง 60 ถึง 70 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างขั้นบันไดมีความกว้างระหว่าง 8 ถึง 10 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลาดชันของควนหรือเนิน หากมีความชันมากระยะระหว่างขั้นบันไดก็ควรจะห่างออกไปด้วย
ระยะปลูกและการวางแนวปลูก
การกำหนดระยะปลูกและการวางแนวปลูกจะต้องพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ เช่น พันธุ์ยางพาราที่ใช้ปลูก สภาพพื้นที่ เป็นต้น สำหรับระยะปลูกในที่ราบ จากการทดลองค้นคว้าพบว่าต้นยางพาราจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตรต่อ 1 ต้น สำหรับการแนะนำเจ้าของสวนยางพาราในเรื่องระยะปลูกจึงต้องคำนึงถึงเรื่องพื้นที่ที่จะให้ต้นยางพาราดังกล่าวเป็นหลัก ส่วนจะใช้ระยะเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะปลูกพืชแซมระหว่างแถวยางหรือไม่