การเก็บน้ำยางและการรักษาน้ำยางสด
เมื่อกรีดยางแล้ว น้ำยางก็จะไหลไปตามรอยที่ทำไว้ผ่านลิ้นรองน้ำยางและไหลลงถ้วยรองรับน้ำยางในที่สุด ภายหลังจากกรีดยางไปแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนมากน้ำยางก็จะหยุดไหลก็จะเริ่มเก็บน้ำยางได้ ซึ่งผู้เก็บน้ำยางโดยปกติจะเป็นคนเดียวกับคนกรีดยาง จะถือถังหูหิ้วหรือหาบปีบไปเก็บน้ำยาง เก็บน้ำยางในถ้วยแล้วเทลงไปในถังหรือปีบที่ถือ หลังเทน้ำยางจากถ้วยก็จะใช้ไม้ปาดน้ำยาง กวาดน้ำยางออกจากถ้วยให้หมด แล้วนำถ้วยไปเก็บคว่ำไว้บนห่วงลวดที่ใช้ตาด้วย เพื่อไม่ให้ถ้วยสกปรก และป้องกันฝุ่นละอองตกลงไปในถ้วย น้ำยางที่เก็บได้จะถูกนำมารวบรวม แล้วลำเลียงไปส่งยังโรงงานทำยางแผ่นอีกต่อหนึ่ง สำหรับสวนขนาดใหญ่ แต่หากเป็นสวนขนาดเล็กก็จะหาบหรือหิ้วไปทำแผ่นที่บ้าน
ปัจจุบันในบางท้องที่จะมีพ่อค้ามารับซื้อน้ำยางสด ๆ เลย ในกรณีที่เจ้าของสวนไม่ประสงค์จะทำยางแผ่นเองก็จะสามารถขายเป็นน้ำยางไปได้ โดยพ่อค้าดังกล่าวจะมีรถบรรทุกประกอบขึ้นเป็นถังสำหรับใส่น้ำยางออกไปรับซื้อถึงสวน ขั้นตอนการซื้อขายจะคิดจากน้ำหนักของน้ำยางสดทั้งหมด และหาความเข้มข้นของน้ำยางโดยจะมีเครื่องมือวัดที่เรียกว่าวัดค่าออกมาแล้ว หาค่าเฉลี่ยเป็นน้ำหนักยางแห้งตีราคาออกมาเป็นกิโลกรัม ซื้อขายในราคาเท่ากับราคายางชั้นสองของตลาดในแต่ละวัน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกรีด
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกรีดที่มีผลต่อผลผลิต มีดังนี้
1. ความลึกของการกรีด ความหนาแน่นของจำนวนท่อน้ำยางมีมากบริเวณเปลือกชั้นใน และมีมากที่สุดบริเวณใกล้เยื่อเจริญ การกรีดยางจะเหลือส่วนของเปลือกชั้นในสุดถึง 1.3 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงเหลือวงท่อน้ำยางไว้บนต้น โดยไม่ได้กรีดถึงร้อยละ 50 และเป็นท่อน้ำยางที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้ากรีดเหลือ 1 มิลลิเมตรจากเยื่อเจริญ จะกรีดได้ร้อยละ 52 ของท่อน้ำยาง หรือถ้ากรีดเหลือ0.5 มิลลิเมตร จะตัดวงท่อน้ำยางได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การกรีดให้ไดน้ำยางมากจึงควรกรีดให้ใกล้เยื่อเจริญมากที่สุด แต่หากกรีดลึกเกินไปหน้ายางจะเป็นแผล เปลือกงอกใหม่ ไม่สามารถกรีดต่อไปได้ การกรีดจะกรีดได้ลึกหรือไม่นั้น ขึ้นกับความชำนาญของคนกรีด
2. ขนาดของงานกรีด หมายถึง จำนวนต้นยางที่คนกรีดสามารถกรีดได้แต่ละวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของต้นยาง ความยาวรอยกรีด ลักษณะของพื้นทื่ ความชำนาญของคนกรีด และช่วงเวลาการไหลของน้ำยาง ปกติการกรีดครึ่งลำต้น คนกรีดคนหนึ่งสามารถกรีดได้ 450-500 ต้นต่อวัน และการกรีด และการกรีด 1/3 ของลำต้น คนกรีดคนหนึ่งสามารถกรีดได้ 650-700 ต้นต่อวัน
3. เวลาที่เหมาะสมสำหรับกรรีดยาง ผลผลิตน้ำยางจะขึ้นอยู่กับความเด่งของเซลล์ ซึ่งมีผลต่อความดันภายในท่อน้ำยาง ในช่วงกลางวันความเด่งของเซลล์จะลดต่ำลง สาเหตุมาจากการคายน้ำ โดยจะเริ่มลดต่ำหลังดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลา 13.00-14.00 น. จะลดลงต่ำสุด หลังจากนั้นจะเริ่มเพิ่มขึ้นจนกลับสภาพเดิมเมื่อเวลากลางคืน
4. ความสิ้นเปลืองเปลือก การกรีดเปลือกหนาหรือบาง ไม่มีผลกระทบต่อผลผลิต การกรีดที่ใช้ความถี่ของการกรีดต่ำจะสิ้นเปลืองเปลือกต่อครั้งกรีดมากกว่าการกรีดที่ใช้ความถี่ของการกรีดสูง แต่เมื่อรวมความสิ้นเปลืองเปลือกทุกครั้งที่กรีดแล้วจะน้อยกว่า ถ้าหากความสิ้นเปลืองเปลือกในรอบปีของการกรีดวันเว้นวัน (d/2) คือ ร้อยละ 100 การกรีดวันเว้น 2 วัน สิ้นเปลืองเปลือกร้อยละ 75 และการกรีดวันเว้น 3 วัน สิ้นเปลืองเปลือกร้อยละ 60 การกรัด 2 เว้นวัน สิ้นเปลืองเปลือกร้อยละ 140 การกรีด 3 วันเว้นวัน สิ้นเปลืองร้อยละ 150 และการกรีดทุกวัน สิ้นเปลืองเปลือกร้อยละ 190 โดยปกติการกรีด วันเว้นวัน สิ้นเปลืองเปลือก แต่ละครั้งกรีดระหว่าง 1.7-2.0 มิลลิเมตร หรือไม่เกิน 25 เซนติเมตรต่อปี
5. ความคมของมีด มีดกรีดยางควรลับให้คมอยู่เสมอ เพราะจะทำให้ตัดท่อน้ำยางดีขึ้นและสิ้นเปลืองเปลือกน้อยกว่าการใช้มีดกรีดยางที่ไม่คม